ทำบัตรประชาชน

ทำบัตรประชาชน บัตรประชาชนหาย
ขั้นตอน ทำบัตรประชาชน เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องทำ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชนที่ใครหลายคนยังไม่รู้
ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนทำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประชาชนหาย บัตรประชาชนหมดอายุ ต่อบัตรประชาชน ใช้เอกสารอะไรบ้าง ทำที่ไหน ไปทำวันเสาร์ได้ไหม ซึ่งในบทความนี้ก็จะตอบคำถามทั้งหมดอย่างละเอียด
เพื่อให้เพื่อน ๆ สามารถ ทำบัตรประชาชนใหม่ ได้เลยไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของเด็ก ๆ อายุ 7 ปีขึ้นไป ตามหัวข้อดังนี้
ใครต้องทำบัตรประชาชน

ขอบคุณรูปภาพจาก : mamaexpert
- บุคคลที่มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 70 ปี (ถึงแม้จะอายุเกิน 70 ปี ก็สามารถขอทำบัตรประชาชนได้นะรวมถึงผู้ที่ได้รับการยกเว้นก็เช่นกัน)
- บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ท.ร.14
ใครไม่ต้องทำบัตรประชาชนบ้าง
- สมเด็จพระบรมราชินี
- พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
- นักบวช ภิกษุ สามเณร นักพรต
- บุคคลที่เรียนอยู่ต่างประเทศ และไม่สามารถขอยื่นคำขอมีบัตรประชาชนได้
- ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ เป็นใบ้ ตาบอดทั้ง2ข้าง จิตไม่ปกติ ไม่สมประกอบ
- ผู้ที่อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
ขั้นตอนทำบัตรประชาชน
เพื่อน ๆ น้อง ๆ สามารถทำบัตรประชาชนได้ตั้งแต่อายุ 7 ปี และต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แนะนำว่าให้ทำภายใน 60 วัน เพราะว่าจะไม่เสียค่าปรับ 100 บาท
บัตรประชาชนจะมีอายุ 6 ปี นับตั้งแต่ออกบัตร ถ้าครบ 6 ปีแล้ววันหมดอายุยังไม่ถึงวันเกิดของเจ้าของบัตรให้นับรอไปจนถึงวันเกิดไม่ว่าจะเป็นปีนั้นหรือปีหน้าจึงจะถือว่าหมดอายุ
ส่วนในกรณีผู้ถือบัตรมีอายุ 70 ปี แต่บัตรยังไม่หมดอายุก็สามารถใช้บัตรนั้นต่อได้ตลอดชีพ
โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมก่อนเดินทางไปยื่นเรื่องดังนี้
ทำบัตรประชาชน ใช้อะไรบ้าง
- สูติบัตร ฉบับจริง หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง และอื่น ๆ ที่เอามายืนยันได้ว่าเป็นชื่อบุคคลเดียวกันกับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- ถ้าเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลให้นำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อมาด้วย
- กรณีไม่มีเอกสารตาม 2 ข้อด้านบน ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง (บุคคลที่น่าเชื่อถือ คือ บุคคลที่มีการงานมั่นคง ภูมิลำเนาแน่นอน และรู้จักกับผู้ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนอย่างดีอาจจะเป็นญาติหรือไม่ใช่ก็ได้)
- ถ้าบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา มารดามาแสดงด้วย
- กรณีถ้าบิดามารดาถึงแก่กรรมให้นำใบมรณภาพฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปแสดงแก่หน้าที่
หลังจากที่เราเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วให้เดินทางไปทำบัตรประชาชนที่ สำนักงานเขตที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หรือ จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express service) เพื่อยื่นเรื่องขอ ทำบัตรประชาชน ได้เลย
ตอน ถ่ายบัตรประชาชน ยิ้มมุมปากได้แต่อย่าให้เห็นฟันนะ
นอกจากการขอทำบัตรประชาชนครั้งแรกก็ยังมีการทำบัตรประชาชนใหม่ในกรณีต่าง ๆ อีก ผมจะขอแยกเป็นกรณี ๆ ดังนี้
บัตรประชาชนหาย
ถ้าเพื่อน ๆ บัตรประชาชนหาย สามารถไปทำบัตรประชาชนใหม่ได้เลยครับ ไม่ต้องแจ้งกับตำรวจ แต่ถ้าอยากป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็สามารถแจ้งความก่อนได้ป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปใช้ เอกสารที่ใช้ก็จะมีดังนี้
- เอกสารยืนยันผู้ขอบัตรประชาชนใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ ใบจบการศึกษา หนังสือเดินทาง เป็นต้
- ถ้าไม่มีหลักฐานมายืนยันให้นำบุคคลที่น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง (เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท)
หลังจากเตรียมเอกสารแล้วก็ไปยื่นเรื่องได้เลยตามหัวข้อ ทำบัตรประชาชนที่ไหน
เนื่องจากมีคนถามกันเข้ามาเยอะผมได้ทำบทความเต็ม ๆ เอาไว้อ่านได้ที่นี้นะ บัตรประชาชนหาย อย่าเพิ่งตกใจ ทำบัตรใหม่ง่ายนิดเดียว
บัตรประชาชนหมดอายุ
ถ้าหมดอายุเกิน 60 วันมีค่าปรับ 100 บาท สามารถทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ใช้เอกสารดังนี้
- บัตรเดิมที่หมดอายุ
- ในกรณีหมดอายุเป็นเวลานานให้นำบุคคลหรือพยานที่น่าเชื่อถือมารองรับด้วย
เราสามารถ ทำบัตรประชาชน ใหม่ก่อนกำหนดหมดอายุได้ภายใน 60 วันนะครับ
บัตรประชาชนถูกทำลาย (แบบไม่เหลือซาก)
ขอทำบัตรใหม่ไม่เกิน 60 วันไม่เสียค่าปรับ ถ้าเกิน 60 วันเสียค่าปรับ 100 บาท เอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้
- เอกสารที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ ใบสำเร็จการศึกษา
- ถ้าไม่มีนำบุคคลที่น่าเชื่อถือเหมือนกับกรณีบัตรหมดอายุมาให้การรับรอง
กรณีนี้เสียค่าธรรมเนียมแน่ ๆ 100 บาท
บัตรประชาชนชำรุด ถูกทำลาย(ยังเหลือชิ้นส่วน)
ทำใน 60 วันไม่เสียค่าปรับถ้าเกินโดนปรับ 100 บาท มีค่าธรรมเนียม 100 บาท ใช้เอกสารตามนี้
- บัตรเดิมที่ชำรุดหรือถูกทำลาย
- เอกสารที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ เป็นต้น
- ถ้าไม่มีเอกสารตาม 2 ข้อด้านบนให้นำบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรอง
กรณีย้ายที่อยู่ผู้ถือบัตรต้องการทำบัตรประชาชนใหม่
- นำบัตรเก่าไปยื่นขอทำใหม่
มีค่าธรรมเนียม 100 บาท
กรณีผู้มีอายุเกิน 70 อยากทำบัตรประชาชน
ทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยใช้เอกสารดังนี้
- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- บัตรประชาชนเดิม (ถ้ายังมี)
- ถ้าไม่มีข้อมูลเนื่องจากบัตรเดิมหมดอายุมานานมากแล้วให้นำเอกสารที่ทางราชการออกให้หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรอง
เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลต้องการทำบัตรประชาชนใหม่
ทำภายใน 60 วันหลังจากเปลี่ยนชื่อสกุลไม่มีค่าปรับ ถ้าเกินโดนปรับ 100 บาท
- บัตรประชาชนเดิม
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ อันนี้ต้องดูกรณีก่อนว่ามีไหม
เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
เปลี่ยนคำนำหน้านาม
ทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใช้หลักฐานดังนี้
- บัตรประชาชนเดิม
- หลักฐานการเปลี่ยนคำนำหน้า เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า
ทั้งหมดนี้ก็คือการทำบัตรประชาชน สำหรับกรณีต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับบุคคลธรรมดา
ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าว่าจะเดินทางไปทำที่ไหนบ้าง
ทำบัตรประชาชนที่ไหน
ในปัจจุบันเราไม่ต้องเดินทางไป ทำบัตรประชาชน ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอในพื้นที่เพียงอย่างเดียวแล้ว สามารถไปยื่นเรื่องขอทำบัตรประชาชนนอกเขตที่อยู่อาศัยก็ได้ ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
- สถานที่ราชการ
“ไม่ว่างไปทำบัตรประชาชนเลยครับต้องทำงาน จันทร์ – ศุกร์ สถานที่ราชการจะเปิดไหมในวันเสาร์ หรือ อาทิตย์”
คำถามที่เพื่อน ๆ ได้อ่านไปข้างต้นมีคนถามกันเข้ามาเยอะมากครับ ดังนั้นผมขอตอบตรงนี้เลยว่ามีครับ
แต่เฉพาะวันเสาร์เท่านั้นนะ บางทีก็จะเปิดให้บริการแค่ครึ่งวันเช้า สาเหตุที่วันอาทิตย์ไม่เปิดก็เพราะว่ามันเป็นวันหยุดนั้นเอง ให้ดีเพื่อน ๆ ลองโทรไปถามสถานที่ราชการนั้นก่อนว่าเปิดไหม
ตัวอย่างสถานที่ราชการที่รับทำบัตรประชาชน
- สำนักงานเขต
- ที่ว่าการอำเภอ
- สำนักงานเทศบาล
- สำนักงานบริหารการทะเบียน
- กรมการปกครอง
- หน่วยบริการจัดทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่
- สำนักงานที่ทำการองค์กรปกครองท้องถิ่น
- สถานเอกอัครราชทูต (สำหรับคนไทยในต่างประเทศ)
- สถานกงสุลใหญ่ (สำหรับคนไทยในต่างประเทศ)
- จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service)

จุดบริการด่วนมหานคร สำหรับทำบัตรประชาชน
จุดบริการด่วนมหานคร ก็คือสถานที่สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในด้านงานทะเบียนราษฎร หรือเอกสารต่าง ๆของบุคคลในประเทศไทย เช่น ทะเบียนบ้าน คนเกิด คนตาย ประวัติ รวมถึงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเพื่อน ๆสามารถไปทำได้
สำหรับการทำบัตรประชาชนเปิดให้ทำเฉพาะ ทำบัตรประชาชนครั้งแรก บัตรประชาชนหมดอายุ บัตรชำรุด เปลี่ยนชื่อที่อยู่ คัดสำเนารายการบัตร
กรณีที่ต้องมีการสอบสวนทางกฎหมาย เช่น บัตรหาย บัตรถูกทำลาย ต้องไปทำที่สถานที่ราชการ อย่าง สำนักงานเขตเท่านั้น
จุดบริการด่วนมหานคร
- BTS หมอชิต เบอร์โทรติดต่อ 02-2725346
- BTS สยาม เบอร์โทรติดต่อ 02-2500125-6
- BTS พร้อมพงษ์ เบอร์โทรติดต่อ 02-6635203-4
- BTS อุดมสุข เบอร์โทรติดต่อ 02-3993499
- BTS วงเวียนใหญ่ เบอร์โทรติดต่อ 02-4401604
เวลาเปิดทำการของ BTS ก็คือ 10.00 โมง ถึง 19.00 ทุ่ม ส่วนวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ เปิดปิดเวลา 10.00 โมง ถึง 18.00 พักกลางวันเวลา 12.00 – 13.00
นอกจากจะเปิดตาม BTS แล้วยังเปิดตามสถานที่สำคัญหลายแห่งด้วย
- ชั้น 1 ของ ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร
เวลาเปิด : 08.30 – 16.30 ในวันและเวลาราชการ
เบอร์โทรติดต่อ : 02-2212141-69 ต่อ 1560-62
- ซีคอน บางแค ชั้น B ติดกับร้าน Power buy
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00 เปิดทุกวัน
เบอร์โทรติดต่อ : 02-4582507
- The mall บางแค ชั้น P ตรงทางเข้าออกลานจอดรถ
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00 เปิดทุกวัน
เบอร์โทรติดต่อ : 02-4547395
- ห้างตั้งฮั่วเส็ง ชั้น B โซน T-plaza
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00 ทุกวัน
เบอร์โทรติดต่อ : 02-4356066
- แฟชั่นไอส์แลนด์ ชั้น B หน้าสถาบันสอนดนตรีจุไรรัตน์
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00 เปิดทุกวัน
เบอร์โทรติดต่อ : 02-1304295
- ห้าง พาราไดซ์พาร์ค ชั้น G ติดเคาน์เตอร์ขายบัตรโดยสารเครื่องบินหลังธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00
เบอร์โทรติดต่อ : 02-3259079
- ห้างเซน ชั้น 7
เวลาเปิดปิด : 11.00 – 19.00 เฉพาะวันราชการ
เบอร์โทรติดต่อ : 02-2153510 ต่อ 6038
ผมก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ทุกคนที่มีปัญหาในเรื่องของการทำบัตรประชาชนประจำตัว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://hilight.kapook.com/view/162963