ประกันสังคม
ประกันสังคม เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักคำนี้กันเป็นอย่างดีเพราะว่าคนทีทำงานไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล นายจ้าง หรือ ลูกจ้าง ต่างก็ต้องโดนหักกันทั้งนั้นในประเทศไทย ในกรณีเป็นเมืองนอกเขาก็จะมีกันมานานแล้วแต่เมืองไทยเพิ่งจะมีได้ไม่นาน ดังนั้นหากเราไม่รู้จักมันดีก็คงไม่แปลกนัก อย่ารอช้ามาเริ่มรู้จักประกันสังคม กันดีกว่าถ้ารู้สายไปอาจจะต้องพลาดเงินก้อนโตไป !
ประกันสังคมคืออะไร
ประกันสังคมคือ การสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตของเราในส่วนของกลุ่มสมาชิกที่มีรายได้ และได้ทำการจ่ายเงินเข้าสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จุดประสงค์เพื่อ ให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันประความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการ เจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และ ว่างงาน ให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาพยาบาลสามารถได้รับรายได้ทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง
โดยสิ่งที่ลูกจ้างจะต้องรู้ก็คือ การจ่ายเงินเข้ากองทุน 5% ของค่าจ้างนั้นรัฐบาลจะสมทบเข้ามาช่วยอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์มากขึ้น คำถามคือ เงิน 5%ของเงินเดือนนั้นเอาไปทำอะไรบ้าง ?
ขอยกตัวอย่างง่ายๆสำหรับคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ที่หัก5%ก็จะเท่ากับ 750 บาทเขาก็จะแบ่งตามนี้
- 225 บาท สำหรับค่าดูแลรักษาต่างๆ ในกรณี เจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ถ้าเราไม่ได้ใช้สิทธิส่วนนี้เลยก็จะปลิวหายไป ไม่ได้คืน
- 75 บาทสำหรับ กรณี ว่างงาน ถ้าเกิดลูกจ้างตกงานหรือรอทำงานที่ใหม่อยู่ก็เอาเงินส่วนนี้มาใช้ได้แต่ถ้าไม่ว่างงานเลยมีงานทำตลอดเงินส่วนนี้ก็จะหายไปด้วย
- 450 บาท ส่วนสุดท้ายจะได้ก็ต่อเมื่อมีอายุ 55 ปี ถือว่าเป็นเงินออม ส่วนนี้จะแบ่งย่อยออกมาอีกนิดหน่อย ผู้เขียนแนะนำว่าให้ดูคลิป ในหัวข้อ สิทธิประโยชน์ประกันสังคม จะเข้าใจได้ง่ายมาก เขาทำ VDO ออกมาได้ดีและเข้าใจง่ายมากทีเดียวในส่วนของ เงินออมได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี
สิทธิประโยชน์ประกันสังคม
ประโยชน์ของประกันสังคมนั้นมีมากมายแต่สิ่งนึงที่เราน่าจะรู้กันเป็นอย่างดีคือเราสามารถรับเงินคืนจากประกันสังคมที่เราจ่ายได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปี ผู้เขียนขอแนะนำ VDO ที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายตามด้านล่างนี้เลย (ถ้าอยากข้ามไปเรื่องการรับ เงินออม ให้ไปนาทีที่ 2.20น. ได้เลย)
ขอบคุณ VDO : ทันโลก ทันเหตุการณ์
รัฐบาลบังคับให้ทำประกันสังคมไหม
ประกันสังคมไม่ได้เป็นสิ่งที่รัฐบาลบังคับ แต่ถ้าที่ทำงานตัดเงินเดือนออกไป 5%แต่ไม่เกิน750บาท สำหรับค่าประกันสังคม ในส่วนนี้เป็นแนวทางของเจ้าของสถานประกอบการเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการพึงต้องทำ แต่เราก็สามารถที่จะยกเลิกประกันสังคม ได้เหมือนกัน
ผู้ประกันตนคืออะไร
ผู้ประกันตน คือบุคคลที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง มี 3 รูปแบบ นั้นคือ ประกันสังคมมาตรา 33 39 และ 40 ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายทั้งนั้นผู้เขียนขอเขียนในภาษาที่เข้าใจง่ายดังนี้
ประกันสังคมมาตรา33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ ผู้ประกันตนภาคบังคับ คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันเข้าทำงานและอยู่ในบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีสมาชิกตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป
ประกันสังคม มาตรา 39 คุ้มครองอะไรบ้าง
ผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ คือ บุคคลที่เป็นลูกจ้างมาก่อนแล้วได้ออกจากงาน หรือ ว่างงาน ได้มีการสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39
การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ประกันสังคมมาตรา40
ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือ ผู้ประกันตนภาคความสมัครใจ คือ ไม่ได้เป็นคนที่เป็นลูกจ้าง พนักงานบริษัท หรือ ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ และ ไม่ใช่คนที่เพิ่งออกจากงานและว่างงานด้วย ผู้ที่ทำประกันตรภาคสมัครใจได้ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี
พนักงานบริษัท หรือ บุคคลทำงานจัดเป็นผู้ประกันตน แบบไหน
พนักงานบริษัทหรือลูกจ้าง รับเงินเดือน ทั่วไปก็จะอยูในผู้ประกันตน ในมาตรา 33
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่เข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง
หัวข้อนี้จะเป็นการเจาะลึกถึงแต่ละกรณีในการใช้สิทธิประโยชน์จาก ประกันสังคม ซึ่ง pankanmart เองก็ต้องขออภัยหากมีข้อมูลที่ผิดพลาดแต่เชื่อว่าถ้าได้อ่านแล้วก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแน่นอน ด้วยความรักถึงผู้ผ่านทุกคน ^^
- กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
- กรณีว่างงาน
กรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ | สิ่งที่เราสามารถเบิกได้คือค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าทำฟัน สิทธิการใช้บริการรากฟันเทียม สิทธิการรักษาโรคทางจิต การบำบัดไต ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาโรคมะเร็ง 10 ชนิด (ตามเงื่อนไขที่ ประกันสังคม กำหนด) โดยแต่ละโรคจะมีเงินช่วยเหลือไม่เท่ากัน มีเบี้ยประกันให้ตั้งแต่ 150 บาท จนถึง 750,000 บาท รวมถึงการขอรับเงินทดแทนเนื่องจากขาดรายได้ ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างที่หยุดงานเพื่อรักษาพยาบาล ประกันสังคม จ่ายให้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน
สรุปสามารถเบิกประกันสังคมได้ดังนี้ครับ
- เจ็บป่วยปกติ
- เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ
- ค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์ในการรักษาโรค
- โรคเอดส์ (ผู้ประกันตนสามารถรับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งพื้นฐาน สูตรทางเลือกและสูตรดื้อยา รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย)
- ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
- ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- ค่าบำบัดทางการแพทย์และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ
- ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
- ค่ายาและค่าเวชภันฑ์
- ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
กรณีทุพพลภาพ | ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ผู้ประกันตน สามารถเบิกประกันสังคม ค่าบริการทางแพทย์ รวมถึงค่าพาหนะรับส่งไปยังโรงพยาบาล เงินทดแทนการขาดรายได้ จากการทุพพลภาพ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต
- ค่ารักษาพยาบาล
- เงินทดแทนการขาดรายได้
- ค่าทำศพ
- รับคืนเงินกรณีชราภาพ
กรณีเสียชีวิต ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน | ในกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ผู้ที่เป็นธุระทำศพ สามารถเบิกค่าทำศพได้ 40,000 บาท สำหรับครอบครัวจะได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่ม คิดจากเงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่ หนึ่งเดือนครึ่ง ถึง ห้าเดือน ขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมากน้อยเท่าไหร่
กรณี คลอดบุตร | รับค่าวิชาชีพในการทำคลอดหรือค่าโรงพยาบาล 13,000 บาท ไม่กำหนดว่าผู้เป็นแม่หนึ่งคนจะมีลูกกี่คน และจะมีค่าครองชีพอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 90 วัน แต่จะได้เฉพาะถึงบุตรคนที่ สอง เท่านั้น ส่วนบุตรคนที่สามจะได้เพียงค่าทำคลอดเท่านั้น จะไม่ได้ค่าครองชีพ 90 วัน
กรณี สงเคราะห์บุตร | ต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคม 12 เดือนภายใน 3 ปี รายละเอียดไม่ค่อยมากเท่าไรนัก คือ เด็กแรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ไม่เกินครั้ง 3 คน จะเบิกได้ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน หากเด็กเสียชีวิตจะไม่เบิกเงินส่วนนี้ได้
กรณี ชราภาพ | มีเงื่อนไขการชดเชยมากกว่าอย่างอื่นนิดหน่อย เมื่อผู้ประกันตน มีอายุ 55ปี จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ อยู่ที่เวลาในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุน โดยที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นเวลา 180 เดือนขึ้นไป ไม่กำหนดว่าจะต้องจ่ายต่อเนื่องกันตลอดระยะเวลาจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หากเราเลิกจ่ายประกันสังคมก็สามารถรับเงินชดเชยได้ทันที่มีหลักการดังนี้
- ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนหยุดส่งเบี้ยประกันสังคม
- หากส่งเบี้ยประกันสังคมเกิน 180 เดือน ให้ปรับอัตราตามข้อ 1 ขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเบี้ยทุก 12 เดือน ที่เกิน 180 เดือนไป
กรณีว่างงาน | ในกรณีที่เราว่างจากการถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 180 วัน หรือในกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือมีการสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90วัน มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินกองทุนประกันสังคม ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนที่จะว่างงาน
ประกันสังคม ประกันตน นั้นเยอะมากจริงๆ แต่ก็มีประโยชน์มากด้วยทั้งใน ปัจจุบันและในอนาคต สำหรับพนักงานบริษัทหรือลูกจ้าง ของสถานประกอบการ อย่าลืมใช้สิทธิประกันสังคมของเราให้มากที่สุดกันนะครับ หากใครที่ไม่ได้ใช้สิทธิของประกันสังคมเลยก็น่าเสียดายจริงๆ แต่ก็อย่าพลาด สิทธิเงินออมประกันสังคมที่จะได้ตอนอายุ 55 ละ สำคัญมาก
สุดท้าย ถ้าชอบบทความประกันสังคมหรือเห็นว่ามีประโยชน์ช่วยแชร์ให้ด้วยเน้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก : easyinsure